ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

แนวคิดของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเสริมให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงในการทำงานเป็นการเรียนรู้สถานการณ์และสภาพการณ์ที่เป็นจริงของการทำงาน อีกทั้งเป็นการนำเอาความรู้ที่ได้รับทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติไปทดลองใช้ เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เกิดความชัดเจนเห็นจริงในองค์ความรู้ที่ได้รับอันจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาในการเตรียมความพร้อมในพฤติกรรมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบุคลิกภาพ สติปัญญา เจตคติ ที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อที่จะออกไปดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลต่อสังคมในที่สุด

 

ความหมายและความสำคัญของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

2.1 ความหมาย
การฝึกประสบการณ์วิชาชีพหรือการฝึกงาน หมายถึง กระบวนการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนที่กระทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาได้ความรู้ทักษะและเจตคติ ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมและก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

2.2 ความสำคัญ
โดยทั่วไปการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็เพื่อมุ่งหวังการผลิตกำลังคน (manpower) และพัฒนามนุษย์ (manhood) ในระดับวิชาชีพชั้นสูง (professional) หรือระดับกึ่งวิชาชีพชั้นสูง (semi-professional) วิชาชีพชั้นสูงนั้นจะเน้นคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ คือ

2.2.1 มีสำนึกของการบริการสาธารณะมีความผูกพันในหน้าที่ของวิชาชีพ
2.2.2 มีองค์ความรู้และทักษะที่อยู่เหนือความเข้าใจของคนทั่วไป
2.2.3 ใช้ระยะเวลายาวในการฝึกฝนความชำนาญในวิชาชีพ
2.2.4 มีอิสระในการตัดสินใจตามขอบข่ายของงานที่กำหนด
2.2.5 มีการควบคุมมาตรฐานของการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
2.2.6 มีจรรยาบรรณเป็นกรอบในการประกอบวิชาชีพ

จากเกณฑ์ทั้ง 6 ประการ การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาชีพ ใดก็ตาม กระบวนการจัดการศึกษาจะต้องสามารถสร้างดุลยภาพระหว่างด้านองค์ความรู้ ด้านทักษะปฏิบัติและด้านคุณธรรม การฝึกประสบการณ์วิชาชีพจึงมีความสำคัญต่อการบูรณาการด้านต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวและมีความประสานกลมกลืนเสริมสร้างคุณลักษณะของผลผลิตทางการศึกษาที่พึงประสงค์

 

หลักการสำคัญของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

3.1 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
3.1.1 มุ่งพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้มีคุณภาพในด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการ ทำงานและการพัฒนางานในสาขานั้นๆ
3.1.2 กระตุ้นส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถสร้างงานหลัก หรืองานรองที่ตนสน ในสาขาวิชาชีพนั้นๆ ได้

3.2 การจัดการ
3.2.1 เน้นการจัดการอย่างมีระบบและอาศัยกระบวนการที่ต่อเนื่อง
3.2.2 เน้นทฤษฎีประสานปฏิบัติที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริง
3.2.3 เน้นการฝึกจากประสบการณ์จริงให้มากที่สุด

3.3 การพัฒนาความสัมพันธ์
3.3.1 เน้นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคลากร องค์การ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการและหน่วยงานภายนอก ที่เอื้อต่อการได้รับความร่วมมือในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตลอดจนการมีงานทำของนักศึกษา
3.3.2 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการบริหารหรือจัดการและจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในขอบเขตที่เหมาะสม
3.3.3 ส่งเสริมให้นักศึกษาสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการทำงานเป็นหมู่คณะ